คำขวัญประจำจังหวัด
"สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม"
สุรินทร์ เป็นจังหวัดหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ที่เรียกกันว่า อีสานใต้ มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 8,124.056 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ 420 กิโลเมตร และโดยทางรถยนต์ผ่านทางอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ระยะทาง ประมาณ 457 กิโลเมตร อยู่กึ่งกลางเท่ากัน ระหว่างจังหวัดนครราชสีมากับจังหวัดอุบลราชธานี มีระยะทางเท่ากัน 155 กิโลเมตร
ทิศเหนือจดจังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดมหาสารคาม
ทิศตะวันออกจดจังหวัดศรีษะเกษ
ทิศตะวันตกจดจังหวัดบุรีรัมย์
ทิศใต้จดประเทศกัมพูชา โดยมีเทือกเขาพนมดงรักเป็นเส้นกั้นเขตแดน
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัด สุรินทร์มีเนื้อที่ประมาณ 8,124 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5,077,535 ไร่คิดเป็นร้อยละ 4.8 ของพื้นที่ภาคตะ วันออกเฉียงเหนือทั้งหมด ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปมีลักษณะดังนี้คือบริเวณซึ่งติดต่อกับราช อาณาจักรกัมพูชา มีป่าทึบและภูเขาสลับซับซ้อน ถัดจากบริเวณภูเขา จะเป็นที่ราบสูงลุ่มๆ ดอนๆ ลักษณะลูกคลื่นลอนลาดบริเวณตอนกลาง ของจังหวัด จะเป็นที่ราบลุ่มเป็นส่วนใหญ่ มีที่ราบสูงอยู่บางตอน ด้านเหนือของจังหวัดเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำไหลผ่าน
จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบสูงมีลักษณะพื้นที่ดังนี้
- ทางตอนใต้ของจังหวัด เป็นพื้นที่ราบสูง มีภูเขาสลับซับซ้อนหลายลูก มีป่าทึบสลับป่าเบญจพรรณตามบริเวณแนวเขตชายแดน (อำเภอบัวเชด อำเภอสังขะ อำเภอกาบเชิง และกิ่งอำเภอพนมดงรัก) ที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ต่อจากบริเวณภูเขาลงมาเป็นที่ราบสูง ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ลาดเท มีลักษณะเป็นลูกคลื่น ค่อย ๆ ลาดเทไปทางตอนกลางและตอนเหนือของจังหวัด - ทางตอนกลางของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม แต่มีพื้นที่บางส่วนเป็นที่ดอน สลับที่ลุ่มลอนลาดเช่นเดียวกัน แต่ไม่มากเท่าทางตอนใต้ของจังหวัด (อำเภอเมืองสุรินทร์ กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอศีขรภูมิ อำเภอสำโรงทาบ อำเภอลำดวน และกิ่งอำเภอศรีณรงค์)
- ทางตอนเหนือของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ (อำเภอจอมพระ อำเภอสนม) และที่ราบลุ่ม (อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม อำเภอรัตบุรี และกิ่งอำเภอโนนนารายณ์) โดยเฉพาะอำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม อยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลในเขตของ ทุ่งกุลาร้องไห้
ลักษณะของดินในจังหวัดสุรินทร์ เป็นดินร่วนปนทราย มีบางพื้นที่ เช่น กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ เป็นดินเหนียวปนทราย ฉะนั้นดินในจังหวัดสุรินทร์จึงอุ้มน้ำได้น้อย
ภูเขาและแหล่งน้ำ จังหวัดสุรินทร์ มีเทือกเขาพนมดงรักทอดยาวตามแนวเขตแดนไทย - กัมพูชา ทางด้านตอนใต้ของจังหวัด มีเขาสวายหรือพนมสวายในเขตตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว มียอดเตี้ย ๆ 3 ยอด ยอดที่ 1 ชื่อยอดเขาชาย (พนมเปราะ) เป็นที่ตั้งของวัดพนมสวาย และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคล ปางประทานพร ภปร. ยอดที่ 2 ชื่อยอดเขาหญิง (พนมซแร็ย) เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ขนาดกลาง ยอดที่ 3 ชื่อยอดเขาคอก (พนมกรอล) พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ ได้สร้างศาลาอัฏฐะมุขเพื่อเป็นอนุสรณ์ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และสถูปบรรจุอัฐิพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) เกจิอาจารย์ที่ชาวสุรินทร์เคารพนับถือ ปัจจุบันเขาสวายได้รับการประกาศเป็น วนอุทยานพนมสวาย
จังหวัดสุรินทร์มีแหล่งน้ำที่สำคัญคือ
แม่น้ำมูล ต้นน้ำเกิดจากภูเขาดงพญาเย็น เขตอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ไหลผ่านจังหวัดสุรินทร์ ทางเขตอำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม และอำเภอรัตนบุรี ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร การเพาะปลูก การคมนาคม นอกจากนั้นยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำต่าง ๆ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของราษฎร หากไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้ง จะมีน้ำตลอดทั้งปี
ลำน้ำชี ต้นน้ำเกิดจากเขาพนมดงรัก เป็นลำน้ำที่แบ่งอาณาเขตจังหวัดสุรินทร์กับจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นลำน้ำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 90 กิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดสุรินทร์ ในเขตอำเภอปราสาท อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอจอมพระ และไปบรรจบแม่น้ำมูลที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
ลำน้ำห้วยพลับพลา ต้นน้ำเกิดจากอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ไหลผ่านทุ่งกุลาร้องไห้ ลงสู่แม่น้ำมูลที่อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นลำห้วยที่แบ่งอาณาเขตจังหวัดสุรินทร์ กับจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ด
ลำห้วยทับทัน ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมดงรัก ไหลผ่านเขตอำเภอสังขะ กิ่งอำเภอศรีณรงค์ อำเภอสำโรงทาบ กิ่งอำเภอโนนนารายณ์ อำเภอรัตนบุรี และไหลลงสู่แม่น้ำมูล
ลำห้วยระวี ไหลผ่านเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอจอมพระ และอำเภอท่าตูม ทางจังหวัดได้ทำการขุดลอก และสร้างฝายน้ำล้นกั้นเป็นช่วง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตร การเพาะปลูก และการอุปโภคบริโภค
ลำห้วยเสน ต้น น้ำเกิดจากเขาพนมดงรัก ไหลผ่านเขตอำเภอสังขะ กิ่งอำเภอศรีณรงค์ เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ ในฤดูแล้งน้ำแห้งเป็นบางช่วงของลำห้วย
ลำห้วยระหาร ไหลผ่านเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ ในฤดูฝนน้ำจะท่วมหลาก แต่ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอด ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้
ลำห้วยแก้ว ไหลผ่านเขตอำเภอรัตนบุรี และไหลลงสู่แม่น้ำมูล ฤดูแล้งบางช่วงของลำห้วยน้ำตื้นเขิน ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน
ลำห้วยสำราญ เป็นลำห้วยที่แบ่งอาณาเขตจังหวัดสุรินทร์กับจังหวัดศรีสะเกษ ต้นน้ำเกิดจากเขาพนมดัจ (เขาขาด) และพนมซแร็ยซระน็อฮ (เขานางโศก) ไหลผ่านเขตอำเภอบัวเชด และอำเภอสังขะ
ลำห้วยจริง เป็นลำห้วยที่แบ่งอาณาเขตอำเภอศีขรภูมิกับกิ่งโนนนารายณ์และสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์มีโครงการชลประทาน 1 แห่งคือ โครงการชลประทานห้วยเสนง (ซะเนง = เขาสัตว์) อยู่ในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ เป็นโครงการส่งน้ำทดน้ำ เอื้อประโยชน์ต่อการทำนาในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 46,180 ไร่
นอกจากแหล่งน้ำดังกล่าวแล้ว จังหวัดสุรินทร์ยังมีแหล่งน้ำอื่น ๆ ในเขตอำเภอต่าง ๆ อีก เช่น
อำเภอเมืองสุรินทร์ มีอ่างเก็บน้ำอำปึล ตำบลเทนมีย์ และอ่างเก็บน้ำหนองศาลา ตำบลนอกเมือง
อำเภอปราสาท มีอ่างเก็บน้ำสุวรรณาภา ตำบลกังแอน และอ่างเก็บน้ำลุมพุก ตำบลตาเตียว
อำเภอชุมพลบุรี มีอ่างเก็บน้ำหนองกระทุ่ม ตำบลชุมพลบุรี
อำเภอท่าตูม มีอ่างเก็บน้ำลุงปุง ตำบลท่าตูม
อำเภอรัตนบุรี มีอ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว ตำบลรัตนบุรี อ่างเก็บน้ำหนองกา ตำบลน้ำเขียว และ อ่างเก็บน้ำหนองน้ำใส ตำบลดอนแรด
อำเภอจอมพระ มีอ่างเก็บน้ำห้วยระหาร ตำบลบุแกรง
อำเภอศีขรภูมิ มีอ่างเก็บน้ำลำพอก ตำบลยาง
อำเภอกาบเชิง มีอ่างเก็บน้ำบ้านสกล ตำบลคูตัน อ่างเก็บน้ำตาเกาว์ ตำบลกาบเชิง อ่างเก็บน้ำห้วยด่านและอ่างเก็บน้ำห้วยเชิง ตำบลด่าน
อำเภอบัวเชด มีเขื่อนบ้านจรัสและเขื่อนบ้านทำนบ ตำบลจรัส และแหล่งน้ำอื่นที่ไม่เอื้อประโยชน์มากนักเนื่องจากในฤดูแล้งไม่มีน้ำอีก เป็นจำนวนมาก
ทรัพยากรธรรมชาติ จังหวัดสุรินทร์ มีพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตป่าจำนวน 1,382,625 ไร่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.23 ของพื้นที่จังหวัดไม่มีอุทยานแห่งชาติมีวนอุทยานจำนวน 2 แห่ง คือวนอุทยานพนมสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ เนื้อที่ 2,500 ไร่ และวนอุทยานป่าสนหนองคู อำเภอสังขะ เนื้อที่ 625 ไร่และมีเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า 1 แห่งคือเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยสำราญ - ห้วยทับทัน อยู่ในพื้นที่กิ่งอำเภอพนมดงรัก, อำเภอกาบเชิง, อำเภอสังขะ และอำเภอบัวเชด เนื้อที่ 313,750 ไร่
จังหวัดสุรินทร์มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ ป่าไม้ ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งจังหวัดประมาณ 1,434,001 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์เหลืออยู่ประมาณ 187,343 ไร่ (เอกสารบรรยายสรุปจังหวัดสุรินทร์ ประจำปี 2540) มีการตัดไม้ทำลายป่าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการบุกรุก แผ้วถาง เพื่อการเกษตรกรรม ป่าไม้ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ในเขตอำเภอสังขะ อำเภอบัวเชด อำเภอกาบเชิง และกิ่งอำเภอพนมดงรัก และยังมีป่าไม้กระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ ในเขตอำเภอปราสาท อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอท่าตูม อำเภอรัตนบุรี อำเภอลำดวน และอำเภอศีขรภูมิ ต้นไม้ที่มีอยู่โดยทั่วไปในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ ต้นเต็ง รัง ยาง ประดู่ พะยูง ตาด แดง กะบาก และอื่น ๆ รวมทั้ง ต้นมันปลา หรือต้นกันเกรา ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์ จากการที่ป่าไม้ถูกทำลายมาก จึงมีการปลูกป่าทดแทน หรือปลูกไม้โตเร็วเพื่อการใช้สอย เช่น ต้นกระถินณรงค์ และต้นยูคาลิปตัส เกือบทุกอำเภอ นอกจากนั้น มีการปลูกต้นยางพาราที่อำเภอกาบเชิง กิ่งอำเภอพนมดงรัก และกิ่งอำเภอศรีณรงค์ บางอำเภอสามารถกรีดยางได้แล้ว ส่วนทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่มีอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ บ่อหินลูกรัง (อำเภอท่าตูม อำเภอสำโรงทาบ อำเภอสังขะ) และทรายแม่น้ำมูลที่นำมาใช้ในการก่อสร้าง (อำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี)
ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัด สุรินทร์ อยู่ในแถบของลมมรสุมเขตร้อน ลักษณะของลมฟ้า อากาศ และปริมาณน้ำฝน จะขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญ ลมมรสุมที่พัดผ่านคือ
1. ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่บริเวณภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดฝนตก แต่จังหวัดสุรินทร์ได้รับปริมาณน้ำฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีเทือกเขาพนมดงรักกั้นอยู่ ปริมาณน้ำฝนส่วนใหญ่มาจากอิทธิพลของลมพายุในทะเลจีนใต้
2. ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดจากแคว้นไซบีเรียและทางตอนเหนือของประเทศจีน ทำให้เกิดความหนาวเย็นและความแห้งแล้งโดยทั่วไป โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง
3. ฤดูกาลในจังหวัดสุรินทร์ มี 3 ฤดู ในแต่ละฤดูจะมีช่วงเวลาไม่คงที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และอิทธิพลของลมมรสุมเป็นหลัก แต่โดยทั่ว ๆ ไป พอสรุปได้ดังนี้
ฤดูร้อน อยู่ระหว่างช่วงเดือน กุมภาพันธ์ หรือมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนอบอ้าว และร้อนจัดมากในบางช่วงส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งโดยทั่วไป
ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝนไม่แน่นอน บางปีมาก บางปีน้อย ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมและลมพายุดีเปรสชันในทะเลจีนใต้
ฤดูหนาว อยู่ระหว่างช่วงเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ความหนาวเย็นในแต่ละปีขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และร่องความกดอากาศต่ำจากประเทศจีน
การปกครอง
1. การปกครองส่วนภูมิภาค จังหวัดสุรินทร์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ 4 กิ่งอำเภอ 158 ตำบล 2,098 หมู่บ้าน
1. เมืองสุรินทร์
2. ปราสาท
3. สังขะ
4. ศีขรภูมิ
5. รัตนบุรี
6. ท่าตูม
7. สำโรงทาบ
8. ชุมพลบุรี
9. จอมพระ
10. สนม
11. กาบเชิง
12. บัวเชด
13. ลำดวน
14. กิ่ง อ.ศรีณรงค์
15. กิ่ง อ.พนมดงรัก
16. กิ่ง อ.เขวาสินรินทร์
17. กิ่ง อ.โนนนารายณ์
Subscribe to:
Posts (Atom)